ในชีวิตประจำวันมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะหกล้ม ถูกตำด้วยตะปูหรือเศษไม้ ถูกมีดบาด ถูกประตูหนีบจนเป็นแผล หากแผลไม่หนักมากก็สามารถรักษาให้หายได้เอง ด้วยการปฐมพยาบาลเบื้องต้น แต่แผลบางชนิดก็อาจต้องรีบไปพบแพทย์ เช่น แผลรถล้มจนเกิดแผลขนาดใหญ่
บาดแผลที่เราสามารถพบเจอได้มีกี่ชนิด?
บาดแผล (Wound) สามารถแบ่งชนิดได้หลายวิธี ตามระยะเวลาที่เกิดแผล ดังนี้
- แผลติดเชื้อหรือแผลสกปรก เป็นแผลที่มีการปนเปื้อนเชื้อ จนเกิดการติดเชื้อ เกิดการอักเสบ มีหนอง
- แผลสดหมายถึง แผลที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่
- แผลเก่า หมายถึง แผลที่กำลังจะหาย
- แผลสะอาด คือ แผลที่ไม่มีการติดเชื้อหรือเป็นแผลที่เคยปนเปื้อนเชื้อ แต่ได้รับการดูแลจนแผลสะอาดไม่มีการติดเชื้อแล้ว โดยลักษณะเนื้อเยื่อแผลเป็นสีชมพูอมแดง
- แผลกึ่งสะอาดกึ่งปนเปื้อน จะมีลักษณะของแผลคล้ายแผลสะอาด แต่เป็นแผลผ่าตัดในระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์ ระบบทางเดินปัสสาวะ ที่ยังไม่เกิดการติดเชื้อ
- แผลปนเปื้อนเป็นแผลที่ไม่สะอาด ได้แก่ แผลที่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น แผลรถล้ม แผลถลอก แผลไฟไหม้ แผลน้ำร้อนลวก ไฟฟ้าช็อต หรือแผลผ่าตัดที่มีการปนเปื้อนเชื้อในระหว่างการผ่าตัด โดยแผลจะมีการอักเสบ ปวด บวมแดง
- แผลเรื้อรังคือ แผลที่มีการติดเชื้อ มีเนื้อเยื่ออักเสบ เป็นหนอง และแผลกดทับผิวหนังเป็นเวลานาน
ขั้นตอนการล้างแผลให้ถูกวิธี
- เตรียมอุปกรณ์และเลือกยาล้างแผลให้เหมาะสมกับชนิดบาดแผล
- ล้างมือให้สะอาด เช็ดให้แห้ง และสวมถุงมือ
- กดห้ามเลือด และยกส่วนที่เกิดแผลให้สูงขึ้น เพื่อให้เลือดหยุดไหล และลดอาการบวม
- ล้างสิ่งสกปรกออกจากแผล และล้างแผลให้สะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ หรือน้ำเกลือล้างแผล 0.9% แล้วซับให้แห้งด้วยผ้าสะอาด
- ใช้สำลีสะอาดชุบแอลกอฮอล์เช็ดรอบๆแผลเท่านั้น ห้ามเช็ดในบาดแผลเพราะอาจทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อของแผล
- ใส่ยาฆ่าเชื้อโรค เช่น เบตาดีน ลงบนแผลเพื่อป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ
- ปิดแผลด้วยพลาสเตอร์หรือผ้าก็อต ไม่ควรใช้สำลีปิดแผลเพราะเมื่อแผลแห้งแล้วจะติดกับสำลีทำให้ดึงออกยาก อาจเจ็บแผลหรือเลือดไหลได้
ควรรักษาความสะอาดและดูแลให้แผลแห้ง บาดแผลที่ไม่รุนแรงอาจฟื้นฟูและหายดีในเวลาไม่กี่วัน ถ้ามีอาการบวมอาจประคบน้ำแข็งบริเวณผิวหนังรอบบาดแผลที่เป็นรอยช้ำในระยะแรกที่เกิดบาดแผล หากเกิดอาการเจ็บปวดจากบาดแผล สามารถรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการได้ หลีกเลี่ยงยาแอสไพริน เพราะอาจมีผลทำให้เลือดไหลเพิ่มมากขึ้นหรือนานขึ้นได้