Home |
ยาแก้ปวดมีชื่อเรียกว่าอะไรบ้าง?
• ยาพาราเซตามอล (Paracetamal) และยาแอสไพริน (Aspirin) เป็นตัวยาที่ออกฤทธิ์ในการแก้ปวด ลดไข้และลดบวมในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางนับเป็นยาแก้ปวดชนิดต้น
• ยาแก้ปวดและต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นยาบรรเทาปวดชนิดหนึ่งที่ออกฤทธิ์แรงกว่ายาพาราเซตามอลจึงเหมาะกับการใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดในระดับปานกลางถึงรุนแรง ลดอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกายรวมถึงช่วยลดไข้และปวดประจำเดือน
• ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) เป็นยาแก้ปวดชนิดรุนแรงทำให้มียาบางชนิดในกลุ่มนี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของยาเสพติดให้โทษและต้องใช้ยาภายใต้คำสั่งของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
อันตรายจากการใช้ยาแก้ปวดจำนวนมากเกินไป
อาการในระยะที่มีการใช้ยาเกินขนาดในปริมาณมากหรือใช้ยาแก้ปวดเกินขนาดมาเป็นเวลานานจะส่งผลให้ตับอักเสบ มีอาการสมองเสื่อมจากโรคตับและอาจทำให้เสียชีวิตได้หากไม่รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาการอาจเกิดขึ้นได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารมีเหงื่อออกเยอะมากกว่าปกติ ไตเสื่อมสภาพและทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดอาการบวม ปัสสาวะออกน้อย การกินยาแก้ปวดเกินขนาดอาจทำให้เกิดแผลหรือมีเลือดออกในทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการปวดท้อง แสบท้อง อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ
วิธีการใช้ยาแก้ปวดอย่างถูกต้อง
1. ควรกินยาแก้ปวดตามข้อบ่งชี้บนเอกสารกำกับยาหรือกินยาตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
2. ไม่ควรกินยาแก้ปวดเกินกว่าที่กำหนด เช่น ผู้ใหญ่ที่มีการทำงานของตับปกติไม่ควรกินยาพาราเซตามอล เกินวันละ 8 เม็ด
3. ควรเว้นระยะห่างของมื้อยาอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง และไม่ควรใช้ยาแก้ปวดติดต่อกันเกิน 5 วัน
4. ห้ามกินยาร่วมกับการสูบบุหรี่หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดเพราะจะทำให้ตับทำงานหนักขึ้นและเพิ่มโอกาสต่อการเกิดภาวะตับล้มเหลว
5. ยาแก้ปวดใช้สำหรับรักษาหรือบรรเทาอาการปวด ไม่ได้ใช้สำหรับป้องกัน ดังนั้นห้ามกินยาแก้ปวดกันเอาไว้ก่อนมีอาการเพราะเป็นการใช้ยาเกินจำเป็น และอาจทำให้ใช้ยาเกินขนาดโดยไม่ได้ตั้งใจ
6. ในกรณีที่ลืมกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลสามารถกินยาได้ทันที และเว้นช่วงระหว่างมื้อยาประมาณ 4-6 ชั่วโมง จึงกินยาเม็ดถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา