ภาวะนอนไม่หลับ หรือ Insomnia คือภาวะที่เรามีปัญหากับการนอนหลับ ไม่ว่าจะเป็นการหลับยาก ตื่นกลางดึกบ่อย ๆ ตื่นกลางดึกแล้วไม่สามารถนอนต่อได้ หรือตื่นเช้าเกินไปจนทำให้รู้สึกไม่สดชื่นเมื่อตื่นนอน รู้สึกเหนื่อยล้าหรือง่วงตลอดวัน อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรือเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้
ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอาการนอนไม่หลับ
ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะนอนไม่หลับได้ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
- ปัจจัยจากพฤติกรรม
- การบริโภคสารกระตุ้น เช่น คาเฟอีนในกาแฟ ชา หรือเครื่องดื่มชูกำลัง
- แสงสว่างเวลานอน แสงจากจอโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือโทรทัศน์ จะไปรบกวนการหลั่งเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้เรารู้สึกง่วงนอน
- การเข้านอนไม่เป็นเวลา การเปลี่ยนแปลงเวลาเข้านอนและตื่นนอนบ่อยครั้ง ทำให้ร่างกายสับสนและปรับตัวเข้ากับวงจรการนอนไม่ทัน
- การออกกำลังกายหนักก่อนนอน การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายตื่นตัวและอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ทำให้หลับยากขึ้น
- สภาพแวดล้อมในการนอน ห้องนอนที่ร้อนเกินไป เย็นเกินไป มีเสียงดัง หรือแสงสว่างรบกวน จะส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับ
-
- ภาวะสุขภาพทางกาย โรคต่าง ๆ เช่น โรคปวดเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคปอด หรือโรคกระเพาะอาหาร อาจทำให้เกิดอาการปวดหรือไม่สบายตัว จนส่งผลต่อการนอนหลับ
- ภาวะสุขภาพจิต ความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือภาวะทางจิตเวชอื่นๆ จะทำให้จิตใจไม่สงบและยากที่จะผ่อนคลาย
- การใช้ยาบางชนิด ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาลดอาการแพ้ หรือยาแก้ซึมเศร้า อาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดภาวะนอนไม่หลับได้
นอกจากนี้ อายุที่เพิ่มขึ้นก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการนอนหลับ เนื่องจากร่างกายผลิตเมลาโทนินลดลง ทำให้หลับยากขึ้น
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
หากมีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับเรื้อรัง หรือส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างมาก ควรปรึกษาแพทย์โดยทันที โดยเฉพาะในกรณีดังต่อไปนี้
- นอนไม่หลับติดต่อกันนานเกิน 1 เดือน แม้จะพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนหลับแล้วก็ตาม
- รู้สึกง่วงซึมในระหว่างวันมากผิดปกติ ส่งผลต่อการทำงาน การเรียน หรือกิจกรรมประจำวัน
- มีอาการหลับใน หลับโดยไม่ตั้งใจขณะทำกิจกรรม เช่น ขับรถ ทำงาน หรือเรียน
- ภาวะนอนไม่หลับรบกวนชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง เช่น ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล หรือส่งผลต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่น
การปรึกษาแพทย์จะช่วยให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และวางแผนการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งอาจรวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ยาหรือการบำบัดทางจิตวิทยา การรักษาภาวะนอนไม่หลับแต่เนิ่น ๆ จะช่วยป้องกันผลกระทบในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ปัญหาสุขภาพจิต การทำงานบกพร่อง หรืออุบัติเหตุ