เวลาที่เรานั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน ๆ มักจะรู้สึกปวดคอ ปวดหลัง หรือปวดตาหนัก ๆ จนทำให้ปวดศีรษะไปด้วย นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายว่าเรากำลังเผชิญกับโรคออฟฟิศซินโดรม เพราะฉะนั้นเรามาเช็คอาการและศึกษาวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมกัน
ลักษณะของโรคออฟฟิศซินโดรม
โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เป็นกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด เกิดจากการทำงานในท่าทางเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ๆ เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดสำหรับผู้ที่ทำงานนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นประจำ แต่ผู้ที่ทำงานประเภทอื่นแล้วต้องใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำ ๆ ไม่ว่าจะยืนหรือเดินก็มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ได้เช่นกัน
อาการของโรคออฟฟิศซินโดรม
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เช่น ต้นคอ แผ่นหลัง ไหล่ นิ้วมือ หรือบริเวณก้นกบ เป็นต้น ถึงแม้ว่าโรคออฟฟิศซินโดรมจะทำให้มีอาการปวดเฉพาะส่วนก็ตาม แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจุดที่ปวดจริง ๆ นั้นอยู่บริเวณใด โดยอาการปวดมีตั้งแต่ปวดล้า ๆ จนถึงปวดร้าวไปยังบริเวณข้างเคียง หากปล่อยทิ้งไว้ก็จะปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งปวดเรื้อรังในที่สุด
- ปวดศีรษะ เกิดจากการใช้สายตาเพ่งหน้าจอมากเกินไป บางรายอาจจะแค่พักสายตาสักครู่ก็หาย หรืออาจถึงขั้นปวดหนัก ๆ ปวดร้าวไปถึงกระบอกตา รวมถึงปวดไมเกรนอีกด้วย
- ระบบประสาทผิดปกติ รู้สึกชาตามปลายมือ กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการถูกกดทับเป็นเวลานาน หรือเกิดความผิดปกติที่ระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น รู้สึกเย็นวูบ เหน็บชา ขนลุก เป็นต้น แต่ถ้าเป็นบริเวณคออาจจะมีอาการตาพร่า หูอื้อ หรือมึนงงร่วมด้วย
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม
โรคออฟฟิศซินโดรมเป็นภาวะที่เราสามารถดูแลตัวเองได้ ถ้าไม่ได้มีอาการหนักจนเกินไป เพียงปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- พักบ้างเป็นระยะ ๆ เมื่อต้องนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ควรลุกยืดเส้นยืดสายเพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย หรือยืดเหยียดบนเก้าอี้ทำงานก็ได้
- ใส่แว่นตากรองแสงสีฟ้า แสงจากจอคอมพิวเตอร์จะทำให้ปวดตาและปวดศีรษะ ดังนั้นการใส่แว่นตากรองแสงจึงช่วยปกป้องดวงตาจากแสงสีฟ้า แต่ก็ควรพักสายตาอย่างน้อย 2 – 3 นาที ทุกครึ่งชั่วโมง
- ออกกำลังกาย ควรหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ ลดโอกาสที่เส้นเอ็นและข้อจะติด ทั้งยังช่วยปกป้องจากโรคออฟฟิศซินโดรมได้ดีเลยทีเดียว
- จัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสม เช่น วางโต๊ะ เก้าอี้ และคอมพิวเตอร์ให้อยู่ตำแหน่งที่ถูกต้อง รวมทั้งท่าทางที่นั่งทำงานด้วยเช่นกัน
- พบแพทย์ ถ้าลองพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและปฏิบัติตามคำแนะนำที่กล่าวมาแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคหาสาเหตุที่แน่ชัด
จริง ๆ แล้วโรคออฟฟิศซินโดรมไม่ได้อันตรายมาก หากเราไม่ปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งอาการหนัก แต่ก็สร้างความรำคาญใจให้ไม่น้อย เพราะฉะนั้นควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานให้ถูกต้องก็สามารถช่วยได้พอสมควร