Home |
Last modified September 25th, 2024 at 11:02 am
จากปัญหาต่าง ๆ ในปัจจุบันที่ทำให้คนไทยมีภาวะเครียดสะสม ทั้งยังมีปัญหาด้านสุขภาพจิตสูงถึง 10% ของประชากรที่นับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก ซึ่งความเครียดเหล่านั้นมีผลทำร้ายสุขภาพไม่น้อย โดยเฉพาะสมองอันเป็นอวัยวะสำคัญทำหน้าที่ขับเคลื่อนการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
ผลกระทบของความเครียดที่มีต่อสมอง
เมื่อเรามีความเครียด สมองจะสั่งการไปยังต่อมหมวกไตให้หลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนความเครียดออกมามากขึ้น และเมื่อเราสามารถจัดการกับความเครียดนี้ได้แล้ว ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลจะลดลงจนร่างกายกลับสู่ภาวะปกติ
แต่หากเกิดภาวะเครียดสะสมนานจนเรื้อรังหรือมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในเลือดสูง จะส่งผลให้สมอง “หดเล็กลง” โดยเฉพาะสมองส่วน Hippocampus ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ และ Prefrontal Cortex ทำหน้าที่คิด วิเคราะห์ วางแผน ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง ความจำบกพร่อง
วิธีจัดการความเครียดจากเรื่องใกล้ตัว
เมื่อเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงต้นเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดได้ เช่น สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และปัญหาทางสังคม เราจึงควรรู้จักการจัดการความเครียดอย่างถูกวิธี เพื่อให้สามารถเผชิญกับทุกปัญหาได้ด้วยความไม่เครียดหรือเครียดน้อยที่สุด พร้อมกับฟื้นฟูสมองให้กลับมาทำงานเป็นปกติ
1. นอนหลับอย่างมีคุณภาพ หมายถึงการนอนหลับสนิทแล้วตื่นมารู้สึกสดชื่น ควรนอนหลับต่อเนื่อง 6 – 9 ชั่วโมง
2. รับประทานอาหารสมอง สมองเป็นอวัยวะหลักในการสั่งการการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย และต้องการพลังงานจำนวนมาก ดังนั้นควรบำรุงสมองด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารบำรุงสมอง เช่น ไข่แดง ธัญพืช ถั่วต่าง ๆ ชาเขียวมัทฉะ งาดำ แปะก๊วย และวิตามินบีรวม เป็นต้น
3. หมั่นออกกำลังกาย การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน (Endorphins) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความสุข อาจจะออกกำลังกายเบา ๆ แต่ต่อเนื่องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 – 5 ครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายหนัก ๆ จะช่วยให้สมองไม่จดจ่ออยู่กับความเครียด
4. จัดสรรเวลา หรือ “Work & Life Balance” ควรแบ่งเวลาการทำงานและการพักผ่อนแยกออกจากกัน ไม่นำเรื่องงานมาคิดหรือทำในช่วงเวลาพักผ่อน และควรปิดแจ้งเตือนนอกเวลางานของทุกวัน
5. ฝึกสมาธิ การทำสมาธิสามารถปฏิบัติได้หลายรูปแบบ เช่น การนั่งสมาธิ การจดจ่อวาดภาพอย่างเงียบ ๆ จะช่วยเพิ่มคลื่นไฟฟ้าสมองชนิดอัลฟ่า (Alpha waves) ทำให้จิตใจผ่อนคลายและรู้สึกสงบมากขึ้น
6. ฝึกคิดบวก หรือการมองโลกในแง่ดี เป็นการปรับมุมมองและวิธีคิดใหม่ให้อยู่กับปัญหาได้โดยทุกข์น้อยลง มองเห็นปัญหาตามความจริงแล้วจัดการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม
7. ลดการเล่นโซเชียล หลายคนเสพสื่อโซเชียลต่าง ๆ ในปัจจุบัน ทำให้เกิดความเครียดวิตกกังวลเกินเหตุ ซึ่งอาจจะเป็นความเครียดโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เพราะฉะนั้นควรหากิจกรรมอื่น ๆ ทำ เช่น ท่องเที่ยวธรรมชาติ อ่านหนังสือที่ชอบ หรือทานอาหารนอกบ้านกับครอบครัวแล้วลดเล่นโซเชียลในบางวัน
การจัดการความเครียดในบางครั้งต้องอาศัยความอดทนร่วมด้วย เราจึงควรหมั่นฝึกฝนการจัดการความเครียด โดยอาจจะใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีร่วมกัน เพื่อช่วยปกป้องสมองไม่ให้ถูกทำร้ายจนเกิดภาวะสมองเสื่อมก่อนวัยได้นั่นเอง