ตาปลาคืออะไร?
ตาปลา (Corns) เป็นการสะสมของผิวหนังที่มีลักษณะหนาและแข็ง โดยมักพบในบริเวณที่มีแรงกดทับสูง เช่น ด้านบนของนิ้วเท้า ส้นเท้า หรือฝ่าเท้า ลักษณะของตาปลามักจะเป็นวงกลมหรือรูปไข่ มีขนาดเล็ก แต่มีความหนา และเมื่อสัมผัสจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อย บางครั้งอาจมีอาการแดงรอบๆ บริเวณตาปลา ซึ่งในบางกรณี ตาปลาอาจมีจุดสีดำหรือสีเทาอยู่ตรงกลางที่เป็นหัวตาปลา ทำให้เกิดความเจ็บปวดมากขึ้นเมื่อต้องรับน้ำหนักหรือมีการเสียดสีในบริเวณนั้น
สาเหตุของการเกิดตาปลา
ตาปลาเกิดจากการเสียดสีหรือแรงกดทับที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ บริเวณผิวหนัง ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นสร้างชั้นผิวใหม่ขึ้นมาป้องกันและรับแรงกระแทก โดยสาเหตุที่มักทำให้เกิดการเสียดสีหรือแรงกดดันก็จะมีดังนี้
- สวมรองเท้าที่ไม่พอดี การสวมรองเท้าที่คับหรือหลวมเกินไป ทำให้เกิดการเสียดสีบริเวณนิ้วเท้าหรือฝ่าเท้า ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดตาปลา รองเท้าที่มีปลายแคบหรือรองเท้าส้นสูงที่บีบให้นิ้วเท้าถูกกดแน่นก็เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเกิดการสะสมตัวขึ้น
- เดินหรือยืนนาน ๆ การเดินหรือยืนเป็นเวลานานทำให้เท้าต้องรับน้ำหนักและแรงกดทับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่การสะสมของชั้นผิวที่หนาขึ้น และส่งผลให้เกิดตาปลา
- ไม่สวมถุงเท้า การเดินหรือวิ่งโดยไม่สวมถุงเท้า หรือสวมถุงเท้าที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เท้าเสียดสีกับรองเท้ามากขึ้น ทำให้มีโอกาสเกิดตาปลาได้ง่ายขึ้น
- กระดูกเท้าผิดรูป เช่น กระดูกนิ้วเท้าที่ยื่นออกมาหรือเท้าที่มีลักษณะแบน ทำให้เกิดการเสียดสีมากกว่าปกติ
วิธีการรักษาตาปลา
การรักษาตาปลาขึ้นอยู่กับความรุนแรงและอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้น วิธีการรักษาตาปลาก็จะมีดังนี้
- การแช่เท้าในน้ำอุ่น ช่วยทำให้ผิวที่แข็งตัวจากตาปลานุ่มขึ้น หลังจากแช่เสร็จสามารถใช้หินขัดหรือแผ่นขัดผิวค่อย ๆ ถูออกเบาๆ เพื่อขจัดผิวที่หนาออก แต่ไม่ควรขัดแรงเกินไปเพราะอาจทำให้ผิวหนังเสียหายได้
- ใช้แผ่นแปะตาปลา แผ่นแปะตาปลาที่มีกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) สามารถช่วยลอกผิวหนังที่หนาออกได้ แต่ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาโรคเบาหวานหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการไหลเวียนของเลือด
- การใส่รองเท้าที่เหมาะสม การสวมรองเท้าที่มีขนาดพอดีและรองรับรูปทรงของเท้าได้ดี ช่วยลดแรงกดทับและการเสียดสี ทำให้ไม่เกิดตาปลาใหม่และบรรเทาอาการเจ็บจากตาปลาที่มีอยู่แล้ว
- ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ หากตาปลามีอาการรุนแรงหรือเจ็บมาก ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม เช่น การตัดผิวหนังที่หนาออกหรือการรับคำแนะนำเกี่ยวกับรองเท้าที่เหมาะสมในการป้องกันการเกิดตาปลาใหม่